วันจันทร์ที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2556

สุนัขพันธุ์ปั้ก(Puggy)!!!


          ในปัจจุบัน คงไม่มีใครที่ไม่รู้จักสุนัขสายพันธุ์ปั๊กเป็นแน่ เนื่องด้วยกระแสความนิยมในสุนัขสายพันธุ์นี้ที่เริ่มมีมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง จะด้วยอุปนิสัยน่ารักน่าเลี้ยงก็ดี หรือจะด้วยรูปร่างหน้าตาที่เป็นเอกลักษณ์ มองอย่างไรก็ไม่เบื่อ ชวนให้หัวเราะแล้วอารมณ์ดีทุกคราที่มองปั๊กน้อย สิ่งเหล่านี้ ล้วนแล้วแต่เป็นเหตุผลที่ทำให้คนไทยหันมาเลี้ยงสุนัขพันธุ์นี้มากขึ้นตามลำดับ

          ด้วยความร่าเริงที่ไม่เหมือนใคร หน้าตาแลดูฉงนปนทะเล้น และอารมณ์ดีอยู่ตลอดเวลา ทำให้ปั๊กไม่เพียงแต่เป็นที่นิยมเลี้ยงในประเทศไทยเท่านั้น หากแต่ยังแพร่หลายมากขึ้นทั่วโลกอีกด้วย

          สุนัขพันธุ์ปั๊กเป็นสุนัขที่เก่าแก่สายพันธุ์หนึ่ง มีกำเนิดมาจากประเทศจีนมาตั้งแต่ 400 ปี ก่อนคริสตกาล ในสมัยโบราณนิยมเลี้ยงไว้ในวัดจีน ต่อมาเริ่มมีการนำออกไปยังสถานที่ต่าง ๆ ก่อนจะเริ่มแพร่หลายไปยังหลาย ๆ ประเทศในแถบทวีปยุโรป

มาตรฐานสายพันธุ์

          ถิ่นกำเนิด   ประเทศจีน
          กลุ่ม   Toy
          หัว   หัวกะโหลกมีลักษณะกลม ขนาดใหญ่ หนังบริเวณหน้าผากมีรอยย่นมาก
          หู   ขนาดเล็ก ใบหูค่อนข้างบาง มีหู 2 ชนิด คือหูตูบแบบบูลด็อก และหูพับแบบลูกกระดุม แต่จะนิยมหูพับมากกว่า
          ตา   ดวงตากลมโต สีเข้ม
          ปากสั้น   รูปทรงสี่เหลี่ยมจตุรัส กรามล่างจะยื่นออก
          จมูก   สั้น สีด
          ฟัน   ขบกันแบบกรรไกร
          ลำตัว   สั้น หลังตรง ล่ำสัน และมีกล้ามเนื้อแข็งแรง
          คอ   สั้น โค้งเล็กน้อย
          อก   กว้าง
          ขา   ขาหน้าเหยียดตรง เต็มไปด้วยกล้ามเนื้อ ความยาวปานกลาง เล็บสีดำ
          หาง หางชี้ขึ้นด้านบน แต่ลักษณะม้วนเป็นวงจนติดบั้นเอว หากม้วนได้ 2 รอบ ถือว่าเป็นลักษณะที่สมบูรณ์
          ขน   สั้นละเอียดเป็นประกาย ไม่ปุกปุย
          สี   สีน้ำตาลแบบลูกวัว สีเงิน หรือสีดำ มีาร์คกิ้งสีดำที่หน้าและใบหู
          ขนาด   สูง 10-11 นิ้ว น้ำหนัก 6.5 - 8.2 กิโลกรัม
          การเดิน และการวิ่ง   คล่องแคล่ว ปราดเปรียว
          ลักษณะที่ถือว่าบกพร่อง   หัวกะโหลกเล็ก ช่วงปากยาว ตาเล็ก รอยย่นเห็นไม่ชัด

ลักษณะทั่วไปของ หมาปั๊ก
          ปั๊ก เป็นสุนัขพันธุ์เล็ก มีขนาดร่างกายเล็กปานกลาง หน้าสั้นและย่นแลดูทะเล้นน่ารัก ใบหูพับตก และมีขนสั้นเกรียน หางมีลักษณะบิดเป็นเกลียวชี้ขึ้นม้วนจนเป็นวงติดกับบั้นเอง ถ้าหางหางม้วนได้ถึงสองตลบจัดว่าเป็นลักษณะที่สวยสมบูรณ์ที่สุด หายใจและกรนเสียงดัง

          สำหรับสัดส่วนของ หมาปั๊ก ถูกผสมพันธุ์ออกมาจนได้รูปร่างที่กะทัดรัดเป็นสี่เหลี่ยมจัดตุรัส ตัน และมีกล้ามเนื้อที่แข็งแรง หัวมีลักษณะเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัส ชิดขึ้นเล็กน้อย ตากลมยื่นออกมาแลดูอ่อนโยน มีสีดำเป็นประกาย หูสั้นตกลงข้างหัว มีความนุ่มคล้ายกำมะหยี่ คอสั้นโค้งเล็กน้อย ขาหน้าเหยียดตรง มีขนสั้นละเอียดเป็นประกาย มีสีเหลืองแอปริคอท มีมาร์คกิ้งสีดำที่หน้าและใบหู

          สุนัขพันธุ์นี้เป็นที่นิยมเลี้ยงกันมากในปัจจุบัน เนื่องจากมีนิสัยน่ารัก ถึงหน้าตาของเขาจะดูเหมือนคิดมากไปสักหน่อย แต่ถ้าได้ลองเลี้ยงแล้วจะหลงใหลไม่รู้ตัว เพราะความอ่อนโยนของมัน ข้อควรระวังในการเลี้ยงคือสภาพอากาศที่ร้อน ปั๊กจะทนไม่ค่อยได้ ถ้าทนไม่ไหวอาจเป็นลมแดดได้ และถ้าอากาศเย็นควรให้อยู่ในที่อุ่น ๆ หรือหาเสื้อมาสวมให้เพื่อป้องกันไม่ให้เป็นหวัด

นิสัย หมาปั๊ก

          ธรรมชาติของ หมาปั๊ก จะเป็นสุนัขที่มีลักษณะเป็นมิตร ปราดเปรียว ว่องไว อารมณ์ดี อยากรู้อยากเห็น ชอบเข้าสังคม มีความนุ่มนวล แต่บางครั้งอาจมีความตื่นตัวและมีพละกำลังในการเล่นมาก ไม่ชอบทะเลาะเบาะแว้งกับสุนัขตัวอื่น ๆ มีความซื่้อสัตย์ต่อเจ้าของ ชอบพบปะทักทายกับคน ไม่ว่าจะเป็นเจ้าของหรือคนแปลกหน้า มีความฉลาดในระดับปานกลาง
          แม้จะเป็นสุนัขสายพันธุ์ที่ชอบเข้าสังคม แต่ปั๊กก็เป็นสุนัขที่มีความเป็นตัวของตัวเองสูง ดื้อรั้น แต่เข้มแข็ง มันมีนิสัยชอบเอาชนะ และเด็ดเดี่ยวมากพอตัวทีเดียว

ความต้องการการดูแลเอาใจใส่

          โดยส่วนมากสุนัขพันธุ์นี้จะขี้เกียจ หากปล่อยให้อยู่ตามลำพังหรือไม่มีอุปกรณ์ฝึกเขา จึงควรพาเขาไปเดินเล่นหรือเล่นเกมโยนของไปให้เขาเก็บทุกวัน แต่อย่าให้เขาออกกำลังกายหนัก ๆ ในช่วงที่มีอากาศร้อน หรือหลังกินอาหารเสร็จ

          แม้สุนัขพันธุ์นี้จะไม่ต้องการการดุแลเสริมสวยให้ยุ่งยากมากนัก แต่ก็จำเป็นต้องได้รับการรักษาความสะอาดทุกวัน อีกทั้งการดูแลเอาใจใส่ในเรื่องของการออกกำลังกาย ก็เป็นสิ่งสำคัญ ถึงแม้ปัก๊กจะไม่ใช่สุนัขที่รักกีฬา แต่การพาเขาไปออกกำลังกายให้พอเพียง ก็จะช่วยให้เขาไม่อ้วนและกลายเป็นสุนัขที่เฉื่อยชาจนเกินไป

ข้อควรระวัง

          เนื่องจากรูปทรงของตาและใบหน้าทำให้สุนัขสายพันธุ์นี้มีแนวโน้มที่จะเกิดการบาดเจ็บที่ตาได้ง่าย ถ้าปั๊กของคุณกำลังถูตาอยู่ กระพริบตาถี่ ๆ มีน้ำตาไหลมากเกิน หรือตามีการเปลี่ยนสีไป ควรปรึกษาสัตวแพทย์ของคุณโดยทันที และการที่เป็นสุนัขจมูกสั้น เขาจึงมักมีปัญหาเกี่ยวกับเพดานปากอ่อน จึงจำเป็นต้องตรวจสอบอยู่เสมอ

          นอกจากนี้ ปั๊กยังมีความเสี่ยงที่จะอ้วนได้ง่าย ดังนั้น การควบคุมปริมาณอาหารและการออกกำลังกายจึงเป็นสิ่งจำเป็น โครงสร้างกะโหลกศีรษะที่สั้น ส่งผลให้ปั๊ก มักมีปัญหาระบบทางเดินหายใจส่วนต้น โดยเฉพาะเมื่ออยู่ในพื้นที่ที่มีอุณหภูมิสูงหรือภายหลังการออกกำลังกายอย่างหนัก จึงควรหลีกเลี่ยงการออกกำลังกายที่มากเกินไป และการเลี้ยงดูในสถานที่ที่มีอุณหภูมิสูง

โรคและความผิดปกติที่พบได้

ความผิดปกติต่าง ๆ ของนัยน์ตา เช่น หนังตาม้วน โรคตาแห้ง กระจกตาอักเสบ แผลหลุมบริเวณกระจกตา
ความผิดปกติของระบบทางเดินหายใจ ได้แก่ กลุ่มอาการผิดปกติของท่อทางเดินหายใจส่วนต้น ในสุนัขสายพันธุ์ที่มีใบหน้าสั้น
ระบบทางเดินสืบพันธุ์ ได้แก่ ภาวะคลอดยาก เนื่องจากขนาดหัว และช่วงไหล่ของลูกสุนัขมีขนาดใหญ่นั่นเอง 

สุนัขพันธุ์บีเกิ้ล(Beagle)!!!


สุนัขล่าเนื้อปรากฎอยู่ในหน้าประวัติศาสตร์ของชาวกรีกโบราณเมื่อ 400 ปีก่อนคริสต์กาล และถูกนำเข้ามาในประเทศอังกฤษในสมัยโรมัน และในปี ค.ศ. 1550 ได้มีการพัฒนาสายพันธุ์สุนัขล่าเนื้อขนาดเล็กสำหรับล่ากระต่ายและกระต่ายป่าขึ้นมา โดยตั้งชื่อว่า "Begles" มาจากภาษาฝรั่งเศสหมายถึง "คอเปิดอ้า" หมายความถึงสุนัขที่มักจะใช้ปากเพื่อส่งเสียง เช่น เห่าหอนเมื่ออยู่ในฝูง ชาวอังกฤษได้แปลงชื่อเป็น 'Beagle' และต่อมาประเทศอังกฤษได้กลายเป็นถิ่นกำเนิดสุนัขบีเกิ้ลสายพันธุ์ใหม่ บรรพบุรุษของสุนัขบีเกิ้ลคือ ฟอกซ์ฮาวน์ ซึ่งจัดอยู่ในสายพันธุ์แฮริเออร์ กลุ่มบลัดฮาวน์ขนาดเล็กที่มีชื่อว่า "เคอร์รี่ บีเกิ้ล" เดิมที สุนัขสายพันธุ์บีเกิ้ลมีหลายขนาดและมีขนหลายแบบ เช่น ขนเรียบแบบ สุนัขล่าเนื้อสมัยใหม่ และขนหยาบสั้น นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาสายพันธุ์ "บีเกิ้ลกระเป๋า" ที่มีความสูง 10 นิ้ว เพื่อให้สามารถพกพาโดยใช้กระเป๋าที่แขวนบนอานม้าได้

ลักษณะประจำสายพันธุ์
ลักษณะของบีเกิ้ลที่ได้มาตรฐาน ได้แก่ ส่วนหัวยาวสวยงามและกะโหลกด้านบนโค้งเล็กน้อย หูมีปลายมน เมื่อจัดให้อยู่ในท่ายืนหน้าตรง หูจะห้อยติดกับหัว และยาวในระดับเดียวกับปลายจมูก กระบอกปากยาวปานกลางและมีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยม รูจมูกมีสีดำเปิดกว้าง ขนาดใหญ่ ตาห่างกันพอประมาณ อาจมีสีน้ำตาลหรือสีฮาเซล คอยาวปานกลาง ไม่มีรอยยับย่น ไหล่ลาด ประกอบด้วยกล้ามเนื้อแต่ไม่เทอะทะ หลังสั้นและตรง ขาเหยียดตรง ข้อเท้าใหญ่ สะโพกจะต้องมีกล้ามเนื้อสวยงามเพื่อให้รูปร่างของบีเกิ้ลดูแข็งแรงและกระทัดรัด โคนหางสูงพอเหมาะ โค้งเล็กน้อย มีขนที่ปลายหาง สีที่ได้รับการยอมรับในเวทีประกวดคือสีในกลุ่มฮาวน์ ยกเว้นสีน้ำตาลแดงเข้ม (Liver Color)
o    ขนาดสายพันธุ์: เล็ก
o    ประเภทสายพันธุ์: บีเกิ้ลจัดเป็นสุนัขล่าเนื้อที่เล็กที่สุด ปัจจุบันมีการเีลี้ยงบีเกิ้ลเพื่อใช้ในการกีฬาและเลี้ยงไว้เป็นสัตว์เลี้ยงภายในบ้าน
o    รูปร่างลักษณะ: บีเกิ้ลเป็นสุนัขขนาดตัวเล็กแต่รูปร่างหนาและแข็งแรง ดูเป็นมิตร ใจดี กระทัดรัดปราดเปรียว และเก่งกาจในด้านกีฬา ชอบวิ่งเล่นอย่างอิสระ มีขนสั้นและหนาที่ช่วยป้องกันร่างกายจากสภาพอากาศ
o    สี: ที่เห็นได้ทั่วไปส่วนใหญ่มักมีขนสามสีคือ สีดำ ขาว และสีแทน แต่ก็สามารถพบเห็นบีเกิ้ลมีสีอื่นๆ ได้ในสีของสุนัขกลุ่มฮาวน์
o    ความยาวขน: สั้น/เรียบ


น้ำหนัก / ส่วนสูง
บีเกิ้ลทั้งเพศผู้และเพศเมียมีส่วนสูงเมื่อวัดจากเท้าถึงจุดสูงสุด บนไหล่ประมาณ 13-16 นิ้ว และหนัก 17-31 ปอนด์ ในอเมริกา บีเกิ้ลมีสองขนาดได้แก่ บีเกิ้ลที่มีความสูงไม่เกิน 13 นิ้ว (วัดจากเท้าถึงจุดสูงสุดของไหล่) และไม่เกิน 15 นิ้ว (วัดจากเท้าถึงจุดสูงสุดของไหล่)

การเจ็บป่วย
บีเกิ้ลมีสุขภาพแข็งแรงมาก จึงมีโรคประจำสายพันธุ์น้อย


อุปนิสัย
ใจดีและเข้ากับสัตว์เลี้ยงอื่นๆ ได้ดี บีเกิ้ลจะพยายามเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวสัตว์เลี้ยงของคุณอย่างเต็มที่ บีเกิ้ลรักเด็ก แต่ถ้าเจ้าของอยากให้บีเกิ้ลเข้ากับแมวได้ดี จะต้องให้บีเกิ้ลทำความคุ้นเคยกับแมวตั้งแต่ยังเล็ก บางครั้งอาจพบว่าบีเกิ้ลชอบเดินไปรอบๆ บ้าน ใช้จมูกดมกลิ่นไปทั่ว นั่นแสดงว่าบีเก้้ิลกำลังสร้างแผนที่อาณาเขตของตนเองโดยใช้กลิ่นเป็นตัวกำหนดอาณาเขต บีเกิ้ลจะตรวจสอบอาณาเขตเป็นระยะ ถ้าพบว่ามีบางอย่างไม่ถูกต้อง ก็จะเห่าส่งเสียงเตือน ทำให้บีเกิ้ลสามารถเฝ้าบ้านได้ดี หากมีขโมยเข้าบ้าน บีเกิ้ลจะเข้าโจมตีเพื่อไล่ขโมยออกไปจากอาณาเขตส่วนตัว

ความฉลาด
การฝึกบีเกิ้ลต้องทำตั้งแต่อายุยังน้อย มิฉะนั้นจะไม่สามารถควบคุมบีเกิ้ลได้ แต่มักจะแสดงนิสัยประจำสายพันธุ์ให้เห็น เช่น กินมากเกินไปและทำสกปรกวุ่นวาย เป็นต้น นอกจากนี้ บีเกิ้ลยังมีนิสัยชอบสร้างความพอใจให้เจ้าของ โดยเจ้าของต้องออกคำสั่งที่หนักแน่น มั่่นคง บีเกิ้ลที่ไม่ได้รับการฝึกตั้งแต่อายุยังน้อยจะไม่ยอมรับคนแปลกหน้า และอาจส่งเสียงเห่าในระดับที่ก่อให้เกิดความรำคาญ

ความต้องการในการออกกำลังกาย

บีเกิ้ลจำเป็นต้องได้ออกกำลังกายอย่างเพียงพอ เพราะมีสัญชาตญาณในการล่าสูงมาก เจ้าของจะไม่สามารถถอดสายจูงออกได้จนกว่าบีเกิ้ลจะได้รับการฝึกให้กลับมาหาเจ้าของเมื่อได้ยินสัญญาณเรียกเสียก่อน การฝึกอาจใช้ระยะเวลานาน และต้องจำกัดให้อยู่ในพื้นที่ที่มีรั้วสูงไม่น้อยกว่า 6 ฟุตล้อมรอบ เพื่อป้องกันไม่ให้กระโดดหนีออกไปข้างนอก เพราะเมื่อใดที่่ได้กลิ่นและมีโอกาสออกไปนอกบ้าน บีเกิ้ลมักจะไม่ยอมกลับมาง่ายๆ นอกจากนี้ บีเกิ้ลมีพรสววรค์ในการหลบหนี ซึ่งวิธีทำให้สงบลงคือการปล่อยให้บีเกิ้ลได้ปลดปล่อยสัญชาตญาณในการล่าตามธรรมชาติออกมาบ้าง เพราะบีเกิ้ลต้องออกกำลังกายมากเป็นพิเศษ จึงไม่ใช่ตัวเลือกที่เหมาะสำหรับผู้ที่อาศัยอยู่ในเมืองนัก

การให้อาหารและการเป้นเจ้าของ

บีเกิ้ลไม่ใช้สุนัขที่เลือกกิน เจ้าของสามารถให้อาหารแห้งหรืออาหารกระป๋องวันละหนึ่งถึงสองครั้ง และควรระมัดระวังเกี่ยวกับปริมาณอาหาร เนื่องจากมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคอ้วน

การดูแลตกแต่งขน
บีเกิ้ลเลี้ยงง่าย การดูแลขนทำได้โดยการใช้แปรงแปรงเร็วๆ เป็นประจำทุกวัน เพื่อกำจัดขนร่วงและขนที่ตายแล้วให้หลุดออกไป อย่างไรก็ตาม บีเกิ้ลมักชอบคลุกตัวกับสิ่งที่มีกลิ่นเหม็น แต่ก็สามารถจับอาบน้ำได้ไม่ยาก นอกจากนี้ยังชอบกินอาหารสกปรก เจ้าของอาจต้องใช้แปรงสีฟันสำหรับสุนัขแปรงฟันให้อย่างสม่ำเสมอ และควรตรวจดูหูเป็นประจำ เพื่อความสะอาดปราศจากการติดเชื้อ

วันอาทิตย์ที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2556

สุนัขพันธุ์ปอมเมอเรเนียน(Pomerania)!!!


          หากพูดถึง สุนัข ตัวเล็กๆ ขนฟูๆ หางเป็นพวง จมูกแหลมๆ ตาแป๋วเป็นประกาย แน่นอนว่าสุนัขที่ว่านี้คือพันธุ์ ปอมเมอเรเนียน  ที่ไม่ว่าใครเห็นเป็นต้องขอจับ ขอสัมผัส ความน่ารักกันใกล้ๆ แต่ที่เห็นน่ารัก ดูบอบบางเหมือนคุณหนูแบบนี้ แท้จริงแล้ว ปอมเมอเรเนียน มีต้นตระกูลมาจาก สุนัข ลากเลื่อนของประเทศไอซ์แลนด์และเลปแลนด์ บริเวณตอนเหนือของทวีปยุโรปโน่นแน่ะ

          ปอมเมอเรเนียน เป็น สุนัข ที่ชอบเอาใจใส่กับสิ่งภายนอก เฉลียวฉลาด เหมาะสำหรับเลี้ยงเป็นเพื่อนพอๆ กับเลี้ยงเพื่อการแข่งขัน ชื่อของ ปอมเมอเรเนียน มาจาก Pomeranian ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของประเทศโปแลนด์และประเทศเยอรมันตะวันออก เหนือแถบทะเลบอลติก โดยแต่เดิมนั้น ปอมเมอเรเนียน เป็น สุนัข พันธุ์ใหญ่ที่ใช้ลากเลื่อนและเฝ้าฝูงแกะ มีรายงานว่า ปอมเมอเรเนียน ที่ถูกนำเข้ามาในอังกฤษตัวแรกมีน้ำหนักถึง 30 ปอนด์ แต่ต่อมาได้มีผู้ผสมพันธุ์ ปอมเมอเรเนียน ให้มีขนาดเล็กลงเพื่อเลี้ยงไว้เป็นเพื่อนคู่ใจแทนการใช้งาน

          ทั้งนี้ ปอมเมอเรเนียน เริ่มเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก เมื่อสมเด็จพระราชินี วิคเตอเรีย แห่งอังกฤษ ทรงไปพบ สุนัข พันธุ์นี้และนำกลับมาเลี้ยงในพระราชวังด้วย ซึ่งมีเรื่องเล่ากันว่าควีนวิคตอเรียทรงโปรด สุนัข ปอมเมอเรเนียน มาก แม้กระทั่งวันที่สิ้นพระชนม์ยังทรงให้เอาเจ้า Turi สุนัข ปอมเมอเรเนียน ตัวโปรดมาไว้ข้างพระแท่นบรรทม และเจ้า Turi นี้ก็ได้นอนเฝ้าอยู่จนควีนสิ้นพระชนม์ จึงทำให้พระองค์ได้รับการยกย่องว่าทรงเป็นผู้ที่ทำให้สาธารณชนรู้จักและนิยมเลี้ยง ปอมเมอเรเนียน ตัวเล็ก

          อย่างไรก็ตาม ปอมเมอเรเนียน ที่ถูกพัฒนาจนเล็กลงอย่างที่นิยมเลี้ยงกันอยู่ในปัจจุบัน เป็นผลงานการพัฒนาของนักผสมพันธุ์ สุนัข ชาวอเมริกา จึงไม่น่าแปลกใจที่ ปอมเมอเรเนียน สายพันธุ์จากอเมริกาได้รับการยอมรับให้เป็นสายพันธุ์ที่ยอดเยี่ยมที่สุด

ลักษณะสายพันธุ์ สุนัข ปอมเมอเรเนียน
          ปอมเมอเรเนียน เป็น สุนัข ที่มีขนาดกะทัดรัด น้ำหนักเฉลี่ยอยู่ระหว่าง 4-6 ปอนด์ หรือราว 1.7-2.5 กิโลกรัม ถ้านำหนักน้อยหรือมากกว่านี้ จะถือว่าไม่ได้มาตรฐานสายพันธุ์  เป็น สุนัข ที่ว่องไวปราดเปรียว มีขนชั้นในที่แน่นและนุ่ม และมีขนชั้นนอกที่หยาบกว่าชั้นใน หางสวยงามเป็นพวงขน และตั้งอยู่ในตำแหน่งที่สูง หางจะขนานไปกับหลัง โดยลักษณะนิสัยพื้นฐานของ ปอมเมอเรเนียน นี้ คือ จะตื่นตัวเสมอ เห่าเก่ง  มีนิสัยอยากรู้อยากเห็น อวดดี สง่างาม และขณะก้าวย่างแสดงถึงความมีชีวิตชีวา เป็นพันธุ์สมบูรณ์ทั้งรูปร่างและการเคลื่อนไหว

 ศีรษะ 
          ศีรษะจะสมดุลได้สัดส่วนกับลำตัว จมูกยาวเล็กน้อย ตรง มองเห็นชัดเจน ปลายจมูกเชิดเป็นอิสระจากริมฝีปาก การแสดงออกของใบหน้าจะสดใส ร่าเริง คล้ายใบหน้า สุนัข จิ้งจอก หรืออีกนัยหนึ่งคือใบหน้าที่ฉลาดแกมโกง เจ้าเล่ห์ กะโหลกจะปิดสนิท ด้านบนสุดของกะโหลกจะกลมเล็กน้อย แต่ไม่เป็นรูปโดมซะทีเดียว เมื่อมองจากด้านหน้าและด้านข้าง จะเห็นใบหูที่ค่อนข้างเล็ก เชิดสูงและตั้งตรงเสมอ เมื่อลากเส้นผ่านปลายจมูกไปยังตรงกลางตาไปยังปลายหูจะได้เส้นตรง นัยน์ตาเป็นสีดำ แววตาสดใสรูปร่างอัลมอนด์ ขนาดปานกลางตั้งอยู่ในตำแหน่งตัวกับกะโหลก นัยน์ตาค่อนข้างชัดเจน ขอบตาและจมูกต้องเป็นสีดำ ยกเว้น ปอมเมอเรเนียน สีน้ำตาล และสีน้ำเงิน (เทา) ฟันสบกันแบบกรรไกร ถ้ามีฟันซี่ใดซี่หนึ่งไม่ตรงก็ยอมรับได้

 ลำตัว ลำคอ
          ลำคอสั้น โดยศีรษะแทบจะติดกับไหล่ ส่วนหลังนั้น ลำตัวกระชับและกะทัดรัด มีซี่โครงและช่วงอกที่ทำงานได้ดี โดยยื่นไปถึงข้อศอก หางดีเป็นพวง เป็นลักษณะเฉพาะพันธุ์ โดยจะขนานไปกับลำตัวส่วนหลัง

ลำตัวส่วนหน้า
          ลำตัวส่วนหลังจะเป็นตัวชูให้ลำคอ และศีรษะอยู่สูง แสดงถึงความผ่าเผย ไหล่และขามีกล้ามเนื้อปานกลาง ความยาวของใบไหล่ และต้นแขนจะเท่ากัน ขาหน้าจะตรงและขนานกับความสูงจากศอกถึงตะโหนก เท่ากับความสูงจากศอกถึงพื้น ข้อเท้าตรงและแข็งแรง เท้าได้รูปหุบสนิท ไม่บิดเข้าหรือบิดออก ขณะยืนจะรับน้ำหนักตัวได้ดี อาจต้องมีการตัดนิ้วติ่ง

ลำตัวส่วนท้า

มุมของลำตัวส่วนท้ายจะสมดุลกับลำตัวส่วนหน้า สะโพกสวย ต้นขามีกล้ามเนื้อปานกลาง ข้อเท้าบิดเล็กน้อย ข้อเท้าได้ฉากกับพื้น และขาจะตรงและขนานกับอีกข้าง ขอบเท้าชัดเจน เท้าหุบสนิท ไม่บิดเข้าหรือบิดออก สุนัขยืนอยู่บนนิ้วเท้าได้อย่างดี อาจต้องมีการตัดนิ้วติ่ง 

การก้าวย่าง และเคลื่อนไหว
          ปอมเมอเรเนียน มีการเคลื่อนไหวที่นุ่มนวล เป็นอิสระ สมดุลและกระฉับกระเฉง มีแรงส่งตัวไปด้านหน้าได้ดี เพราะมีแรงขับจากลำตัวส่วนท้าย ขาหลังจะเดินตามรอยขาหน้าในข้างเดียวกัน เป็นการเดินและเคลื่อนไหวที่สมดุล ขณะเคลื่อนไหวจะไม่มีการเหวี่ยงเท้าเข้าหรือออกจากลำตัว ลำตัวด้านบนยังคงได้ระดับ ซึ่งดูแล้วลักษณะทั้งหมดจะสมดุล

ขนและสีขน
          ปอมเมอเรเนียน เป็น สุนัข ที่มีขนสองชั้น ขนชั้นในนิ่มและแน่น ขนชั้นนอกจะยาวตรงหยาบกว่า แต่จะส่องแสงแวววาว ขนชั้นในจะหนาเพื่อปกป้องลำตัวของ สุนัข โดยขนจะแน่นตั้งแต่ลำคอ ไหล่ และอก ขนชั้นนอกบริเวณไหล่ อก ค่อนข้างมาก ขนบริเวณศีรษะและขาจะน้อยและสั้นกว่าส่วนอื่น (โดยเฉพาะลำตัวและไหล่จะยาวที่สุด) ลำตัวส่วนหน้าจะมีขนปกคลุมไปจนถึงข้อเท้าหางจะมีขนชั้นนอกที่ยาว แข็ง ปกคลุม อาจต้องมีการตัดเล็มขนบ้างซึ่งยอมรับได้

          ส่วนมีสีขนของ ปอมเมอเรเนียน จะมีหลายสี หลายแบบ เช่น ดำและน้ำตาล สีผสมหรือสีทองออกส้ม สีขาว ที่มีสีอื่นร่วมบริเวณศีรษะ หรืออีกประเภทที่เรียกว่า open elasses คือจะมีสีแดง สีส้ม สีครีม สีดำ สีน้ำตาล สีเทา เป็นต้น

อาหารและการเลี้ยงดู ปอมเมอเรเนียน
          การดูแลขนของ ปอมเมอเรเนียน ต้องได้รับการแปรงขนทุกวันหรืออาทิตย์ละสองครั้ง ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งที่จำเป็นเพื่อที่จะให้ขนที่หนาและสวยไม่พันกัน ขนของ ปอมเมอเรเนียน ต้องการการเล็มบ้างแค่ครั้งคราว ส่วนการดูแลหูและเล็บเป็นประจำเป็นสิ่งที่แนะนำรวมกับการอาบน้ำ อย่างไรก็ตาม ไม่ควรอาบน้ำให้ ปอมเมอเรเนียน บ่อยมากจนเกินไป เพราะการอาบน้ำบ่อยจะทำให้หนังและขนเแห้งจนเกินไป เนื่องจากน้ำมันที่จำเป็นถูกล้างออกไปหมด

          นอกจากการดูแลขนแล้ว สิ่งที่สำคัญที่มากที่สุดสำหรับ สุนัข ปอมเมอเรเนียน คือการได้รับการดูแลสุขภาพปากและฟันเป็นอย่างดี เนื่องจาก ปอมเมอเรเนียน ง่ายต่อการสูญเสียฟันอันเนื่องมาจากปัญหาฟันผุ หรือสุขภาพเหงือกไม่ดี จึงต้องมั่นทำความสะอาดฟันให้เป็นประจำ และควรให้อาหารชนิดแห้งเพื่อลดปัญหาสุขภาพปากและฟัน


โรคและวิธีป้องกัน
          สุนัข แต่ละพันธุ์มีโรคประจำที่แตกต่างกันออกไป เช่น สุนัข พันธุ์โกลเด้น ก็มีปัญหาโรคข้อสะโพกเสื่อม สุนัข พันธุ์คอกเกอร์ สเปเนียล ก็พบปัญหาเรื่องโรคหูอักเสบ สุนัข พันธุ์พุดเดิ้ลก็มีปัญหาโรคหัวใจโต สุนัข พันธุ์ดัลเมเชี่ยนก็เจอโรคหูหนวก สุนัข พันธุ์ดัชชุน ก็มีปัญหาโรคหมอนรองกระดูก ฯลฯ ปอมเมอเรเนียน ก็มีปัญหาเหมือนกัน โดยมี 4 โรคที่ ปอมเมอเรเนียน พึงสังวรไว้ คือ

1. โรคลูกสะบ้าเคลื่อน โรคนี้พบได้บ่อยสุด คือ มีอาการเจ็บเข่าจนต้องยกขาไม่ลง ถ้าไม่เป็นมาก ก็รักษาด้วยการกินยา แต่ถ้าเป็นมากต้องพึ่งหมอผ่าตัด  อย่างไรก็ดี โรคนี้ป้องกันได้โดยอย่าปล่อยให้ ปอมเมอเรเนียน ของเราอ้วนเกินไป และคอยดูแลไม่ให้เขาหล่นหรือโดดลงจากที่สูง ส่วนสถานที่ที่เลี้ยงนั้นไม่ควรเป็นพื้นลื่นจำพวกกระเบื้อง พื้นหินขัด,หินอ่อน หรือแกรนิต ที่สำคัญไม่ควรปล่อยให้ ปอมเมอเรเนียน ที่มีปัญหาลูกสะบ้าขยายพันธุ์

 2. โรคหลอดลมตับ เป็นอีกโรคมักพบบ่อยๆ ใน ปอมเมอเรเนียน อาการที่พบ คือ ไอแห้งๆ เสียงดังมาก ซึ่งพบบ่อยเวลาที่ตื่นเต้นหรืออากาศเย็น ดังนั้น จึงอย่าปล่อยให้มันอ้วนเกินไป และพยายามอย่าให้เขาอยู่ในที่ที่อากาศร้อนและชื้นเกินไป และที่สำคัญเวลาจูงเดินเล่นควรใช้สายจูงชนิดสายรัดอก แทนสายจูงกับปลอกคอหรือโซ่คอ

3. ขนร่วง ปัญหาโรคขนร่วงที่พยบ่อยใน ปอมเมอเรเนียน ก็คือโรค Black Skin หรือ BSD ซึ่งทำให้ผิวหนังไม่มีขนและมีจี้ดำ เกิดจากหลายสาเหตุรวมกัน เช่น โรคไทรอยด์ต่ำ,ZEMA,ไรขี้เรื้อนและเชื้อรา ซึ่งวิธีแก้ไข คือ ควรรีบพา สุนัข ที่มีปัญหาโรคผิวแห้งไปพบสัตว์แพทย์โดยเร็ว

4. โรคหนังตาม้วนเข้า โรคนี้สามารถพบใน สุนัข ปอมเมอเรเนียน แต่ไม่พบบ่อยเหมือน สุนัข พันธุ์เชาว์-เชาว์ หรือชาร์ไป ซึ่งวิธีแก้ไขคือต้องทำการผ่าตัดโดยสัตวแพทย์

วันเสาร์ที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2556

สุนัขพันธุ์โกลเด้นรีทรีฟเวอร์(Golden Retriever)!!!


โกลเด้น รีทรีฟเวอร์ เป็นสุนัขขนาดกลาง ในกลุ่ม สปอร์ทติ้ง ด๊อก (Sporting Dog) ซึ่งเป็นกลุ่มสุนัขเพื่อใช้งานในกีฬาล่าสัตว์ กลุ่มเดียวกับ พอยต์เตอร์ (Pointer) เซทเตอร์(Setter) และ สแปเนียล (Spaniel)



โกลเด้น รีทรีฟเวอร์ ไม่ได้เป็นสุนัขสำอางที่ต้องการการเสริมแต่งเป็นประจำ ต้องการการดูแลรักษาน้อย เพียงแค่ อาบน้ำและแปรงขนอาทิตย์ละครั้งก็เป็นการเพียงพอแล้ว เป็นสุนัขที่ออกจะเซอๆ ลุยๆหน่อย มีความเป็นตัวของตัวเองสูง และหล่อสวยแบบเป็นธรรมชาติ ออกจะแข็งแรง มีพลังงานสูง กระปี้กระเปร่า ฉลาดเฉลียวแต่ไม่เจ้าเล่ห์ สุขุม ชอบอยู่ร่วมกับคน รักเจ้าของ และชอบน้ำเป็นพิเศษ เวลาอาบน้ำคือความสุขของทั้งตัวเขาและเจ้าของ บางครั้งจะแอบไปนั่งแช่ในน้ำหรือในที่อื่นๆที่มีน้ำให้ลงไปทั้งตัวได้เช่นในอ่างบัวด้วยบ่อยๆ
  • มีลักษณะของหัว ช่วงคอที่ไม่ยาวหรือสั้นเกินไปแต่ใหญ่รับกับกรามที่แข็งเเรง
  • การเรียงของฟันที่มีรูปแบบถูกต้องเป็นระเบียบ เพื่อการคาบเทยื่อที่หนักได้ โดยไม่มีการขย่ำลงไป
  • หูที่ไม่ใหญ่และยาวเกินไปปรกลงมาปิดหูพอดีเพื่อป้องกันรูหูขณะว่ายน้ำและไม่เกะกะขณะวิ่งผ่านป่าละเมาะ
  • มีช่วงไหล่ที่หนาสำหรับการว่ายน้ำที่ดี
  • ขนที่มี 2 ชั้น ที่ชั้นนอกจะหยาบกว่าและค่อนข้างยาวเพื่อป้องกันความหนาวเย็นจากการแช่น้ำและไม่เลอะง่าย เมื่อสะบัดความสกปรกที่ติดอยู่ที่เฉพาะขนชั้นนอกก็จะหลุดออกได้ง่าย
  • เท้าที่เป็นทรงกลมและแข็งแรง สามารถรับน้ำหนักการกระโดดและวิ่งขณะคาบเหยื่ออยู่ได้ดีเป็นตัน



นิสัยของเจ้าโกลเด้น รีทรีฟเวอร์

โกลเด้น รีทรีฟเวอร์เป็นสุนัขที่ชอบอยู่ใกล้ชิดกับคน เมื่อเจอคนแปลกหน้ามันมักจะกระดิกหางวิ่งเข้าไปต้อนรับด้วยท่าทางดีใจราวกับว่าได้พบ เพื่อนเก่าที่ไม่ได้เจอกันมานาน สุนัขพันธุ์นี้จึงไม่เหมาะอย่างยิ่งที่คุณจะนำมาใช้เฝ้าบ้าน เพราะมันไม่มีลักษณะนิสัยที่ก้าวร้าวต่อคนแปลกหน้า แม้บางครั้งโกลเด้น รีทรีฟเวอร์จะเห่าเสียงดังเมื่อคนแปลกหน้าล่วงล้ำเข้ามาในอาณาเขต แต่ลักษณะการสะบัดหางด้วยท่าทีเป็นมิตร จะทำให้คนแปลกหน้าที่คุ้นเคยกับสุนัข มาก่อนทราบว่ามันเห่าด้วยความดีใจ มากกว่าที่จะเห่าไล่หรือตรงเข้าไปทำร้าย


โกลเด้น รีทรีฟเวอร์ เป็นสุนัขที่ชอบใช้ชีวิตอย่างสนุกสนาน รักการผจญภัย และมีความอยากรู้อยากเห็นเหมือนเด็กๆ มันชอบกระโดดไปตามที่ต่างๆ ยืดตัวขึ้นสูงเพื่อชะโงกดูว่ามีอะไรอยู่บนเคาน์เตอร์ หรือเดินพิสูจน์กลิ่น ไปตามสุมทุมพุ่มไม้รอบบ้าน และเป็นนักขุดที่ทำให้สนามเป็นหลุมเป็นบ่อไปทั่ว ทั้งนี้ก็เพื่อสนองความอยากรู้อยากเห็นของตัวมันนั่นเอง

โกลเด้น รีทรีฟเวอร์บางตัวมีพฤติกรรมที่คุณอาจจะเห็นว่าแปลกสักหน่อย คืองับแขนเจ้าของแล้วดึงไปข้างหน้า เพื่อพาเจ้าของไปยังที่ต่างๆ ที่มันอยากพาไปเพื่อให้เจ้าของได้มีส่วนร่วมในการผจญภัยของมันด้วย


สิ่งที่โกลเด้น รีทรีฟเวอร์ต้องการ 

ถ้าจะถามว่าโกลเด้น รีทรีฟเวอร์ต้องการอะไรจากเจ้าของบ้าง คำตอบแรกก็คือความใส่ใจ เพราะเจ้าโกลเด้นเป็นสุนัขที่ต้องการความใส่ใจเป็นพิเศษจนถึงขนาดเป็นส่วนหนึ่งในชีวิต เจ้าของเลยทีเดียว แน่นอนว่าพวกมัน ต้องการที่จะออกไปวิ่งเล่นในสวนรอบๆ บ้าน แต่มันก็ต้องการให้เจ้าของออกไปเล่นกับมันด้วย และหากคุณเคยออกไปใช้ชีวิต กลางแจ้งร่วมกับมันละก็ เชื่อได้เลยว่ามันกำลัง เฝ้ารอการได้ออกไปใช้ชีวิต กลางแจ้งร่วมกันคุณอีกครั้ง

การเกาคางหรือลูบหลังลูบไหล่ เป็นสิ่งที่โกลเด้นต้องการเป็นลำดับถัดมา เพราะนั่นเป็นการสื่อภาษาทางร่างกายว่าคุณรักและเอาใจใส่พวกมันอยู่เสมอ และจะยิ่งทำให้พวกมันรักและบูชาคุณมากยิ่งขึ้น

การออกกำลังกายเป็นสิ่งที่โกลเด้น รีทรีฟเวอร์ต้องการอย่างสม่ำเสมอ วิธีการออกกำลังที่เหมาะสมก็คือการพาเดิน การปล่อยให้วิ่ง หรือการโยนสิ่งของออกไปไกลๆ เพื่อให้ไปคาบกลับมา รวมทั้งการว่ายน้ำในกรณีที่มีแอ่งน้ำที่สะอาดและปลอดภัยด้วย (บางบ้านปล่อยให้ลงไปในสระว่ายน้ำด้วยค่ะ)

อาหารที่โกลเด้น รีทรีฟเวอร์ขนาดโตเต็มวัยต้องการควรเป็นอาหาร ในระดับซุปเปอร์พรีเมี่ยมโดยให้เพียงวันละ 1 ครั้งในปริมาณที่เพียงพอ และในระหว่างวันอาจให้บิสกิตเสริมได้วันละ 2 ครั้ง

บริเวณสำหรับนอนเป็นอีกส่วนหนึ่งที่โกลเด้นต้องการ ผ้าปูรองนอนนุ่มๆ หาของเล่นส่วนตัวสักชิ้นสองชิ้นที่มันสามารถกัดแทะได้ เช่น กระดูกเทียม หรือลูกบอลยางวางไว้รอบตัวให้มันด้วย จะช่วยให้โกลเด้นมีที่สงบและปลอดภัยสำหรับ ช่วงเวลาที่พวกมันต้องการความเป็นส่วนตัวและต้องการพักผ่อน

สิ่งสุดท้ายที่เจ้าของสามารถตอบสนองความต้องการให้แก่โกลเด้นได้ก็คือการพาเจ้า โกลเด้นไปพบสัตวแพทย์เป็นประจำเพื่อฉีดวัคซีนที่จำเป็น รวมทั้งเช็คร่างกาย ว่าปราศจากพยาธิ และโรคภัยต่างๆ

นอกจากนี้ เจ้าของยังสามารถช่วยดูแลเรื่องความสะอาดภายในใบหู ดูแลเรื่องเห็บและหมัด รวมทั้งตัดเล็บให้มันอย่างสม่ำเสมอเพื่อให้วิ่งและกระโดดง่ายขึ้น หากคุณสามารถดูแลในสิ่งพื้นฐานที่โกลเด้น รีทรีฟเวอร์ต้องการจากคุณได้แล้ว คุณอาจประหลาดใจก็ได้ว่า เจ้าสิ่งมีชีวิตตัวนี้สามารถสร้างความรัก ความผูกพันและความประทับใจให้กับคุณได้อย่างคาดไม่ถึงทีเดียว


วันพุธที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2556

สุนัขพันธุ์ชิสุ(Shih Tzu)!!!

       "ชิสุ" เป็นสมาชิกสี่ขาประจำครอบครัวกันอย่างแพร่หลาย แต่รู้ไหมว่าประวัติความเป็นมาของ สุนัข ชิสุ น่ะ เป็น ถึง 1 ใน 3 สุนัข ชั้นสูงจากจักรพรรดิจีนเชียวนะ
           ทั้งนี้ บรรพบุรุษของ สุนัข ชิสุห์ นั้น มีการคาดเดาว่ามีต้นกำเนิดจากทิเบต เนื่องจากตามประวัติศาสตร์ของชาวทิเบตถือว่าสิงโตเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ตามความเชื่อทางศาสนา พระชาวทิเบต (Lama) จึงได้ผสม สุนัข พันธุ์เล็กขึ้นมาให้มีลักษณะคล้ายคลึงกับสิงโต ซึ่งเราจะเห็นได้ว่าลักษณะขนแผงคอของ ชิสุ จะเหมือนกับสิงโต อีกทั้งท่าทางการเดินหรือการเคลื่อนไหวก็แลดูสง่างาม และชื่อ "ชิสุ" (Shih Tzu) ซึ่งเป็นคำในภาษาจีน ก็แปลว่า สิงโต ด้วย


 ลักษณะทั่วไปของ สุนัข ชิสุ

           ชิสุ เป็น สุนัข ขนาดเล็กในกลุ่มทอย (Toy Group) มีน้ำหนักประมาณ 4.5 - 7.5 กิโลกรัม (หรือราว 10 - 16 ปอนด์) ส่วนสูงประมาณ 25 - 27 ซม. (หรือราว 10 - 11 นิ้ว) ทั้งนี้ ชิสุ มีลักษณะนิสัย กล้าหาญ มีความตื่นตัว ขี้ประจบ มีความสง่าอยู่ในตัว เดินหน้าเชิด การย่างก้าวสง่าผ่าเผย นอกจากนี้ ชิสุ ยังรักความสะอาด เป็นมิตรกับทุกคน ปรับตัวได้ดี และชอบที่จะมีส่วนร่วมในกิจกรรมต่างๆ กับเจ้าของในทุกเรื่อง แล้วก็ไม่ชอบถูกทิ้งไว้ในบ้าน

ข้อบกพร่องของสายพันธุ์ ชิสุ


 - ศีรษะแคบเกินไป

 - ฟันบนเกยฟันล่าง
 - ขนสั้น หรือขนที่ได้รับการขลิบให้สั้น
 - จมูกหรือหนังบริเวณขอบตาสีชมพู
 - ดวงตามีขนาดเล็กหรือมีสีจาง
- ขนบาง ไม่ดกหนา
 - มุมหักตรงช่วงรอยเชื่อมระหว่างจมูกและหน้าไม่เด่นชัด

 อาหารและการเลี้ยงดู สุนัข ชิสุ


           ชิสุห์ มีอายุค่อนข้างยืนยาว คือประมาณ 10-18 ปี ตามแต่ปัจจัยต่างๆ เช่น อาหาร และการเลี้ยงดู โรคที่มักเกิดขึ้นกับ ชิสุ คือโรคตาแห้ง โรคหูน้ำหนวก หูอักเสบ โดยเจ้าของควรหมั่นทำความสะอาดตาและหูของ ชิสุ อย่างสม่ำเสมอด้วยผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดของมันโดยเฉพาะ ส่วนโรคอื่นๆ ที่อาจเกิดขึ้นกับ ชิสุ ได้ เช่น โรคนิ่ว โรคไต และไส้เลื่อน


           นอกจากนี้ ขนเป็นส่วนประกอบสำคัญที่เป็นตัวชี้วัดความสวยงามของ ชิสุ โดยเฉพาะ ชิสุห์ เป็น สุนัข ขนยาว ที่จะต้องดูแลมากเป็นพิเศษ เนื่องจากมีขนเส้นเล็กและพันกันได้ง่าย หากไม่รู้จักวิธีการรักษาขนให้ดี ขนของ ชิสุ จะพันกันและมีโอกาสเป็นโรคผิวหนังได้ง่ายๆ 

           ทั้งนี้ การแปรงขนอย่างสม่ำเสมอทุกวันจะช่วยให้ผิวหนังและขนสะอาดของ ชิสุ เป็นเงางาม เพราะมีการนวดให้ต่อมน้ำมันที่โคนขนขับน้ำมันออกมาเคลือบเส้นผมได้มากขึ้น ทำให้ผิวหนังมีสุขภาพสมบูรณ์ และยังเป็นการช่วยขจัดรังแคและสิ่งสกปรกอื่นออกจากผิวหนังของ ชิสุ ด้วย

           อาหารที่เหมาะกับเจ้า ชิสุ สุดสวย ควรเป็นอาหารเม็ดมากกว่าอาหารกระป๋อง เพราะ สุนัข มีขนยาว หากให้กินอาหารกระป๋องจะทำให้เลอะหนวดเครา เหม็นคาว ทำให้ต้องทำความสะอาดกันทุกครั้งไป และหากล้างออกไม่หมดก็จะกลายเป็นที่สะสมของเชื้อโรค อีกทั้งถ้าให้อาหารกระป๋องต้องใช้ให้หมดในคราวเดียว ไม่เช่นนั้นจะเสี่ยงต่อสุขภาพของ  ชิสุ ของคุณได้


           อย่างไรก็ตาม อาหารปรุงเองก็สามารถให้ ชิสุ ได้ แต่ควรดูความเหมาะสมของสารอาหารที่ให้ และการสร้างอุปนิสัยที่ดี  เพราะหากให้กินพร่ำเพรื่อ สุดท้ายเจ้า ชิสุ ตัวโปรดของคุณก็จะติดนิสัยขออาหารที่ครั้งที่เห็นคนกิน ดังนั้นต้องใจแข็งไว้นะคะ ควรให้อาหารเป็นเวลาจะดีกว่า แล้ว ชิสุห์ ของคุณไม่มีปัญาหาสุขภาพตามมาด้วย


 โรคและวิธีการป้องกัน


            โรคตาแห้ง เป็นโรคที่มักเกิดกับ สุนัข ชิสุ เพราะมีดวงตากลมโต ลูกตาเปิดกว้าง ทำให้เกิดการระคายเคืองได้ง่าย อีกทั้งยังมีโอกาสเกิดอุบัติเหตุกับดวงตาด้วย ทั้งนี้ อาการของโรคตาแห้ง คือน้ำตาน้อย ก็ต้องรักษาด้วยการหยอดตาต่อเนื่อง อาจจะนานๆ ครั้ง หรือไม่ก็ตลอดชีวิต สำหรับการดูแลรักษา อย่างแรกเลยผู้เลี้ยง ควรเจ้าของควรหมั่นทำความสะอาดตาอย่างสม่ำเสมอด้วยผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดโดยเฉพาะ และเมื่อเห็นความผิดปกติของลูกตาให้รีบพาไปพบสัตวแพทย์ทันที เพราะ ถ้าทิ้งไว้นาน อาจทำให้ติดเชื้อ แก้วตาละลาย ถึงขั้นตาบอดได้ อีกอย่างถ้าพามาตั้งแต่แรกเริ่มก็จะมีค่าใช้จ่ายในการรักษาที่ไม่สูงมากนัก


            โรคหูน้ำหนวก หูอักเสบ ส่วนใหญ่เป็นการอักเสบของช่องหูภายนอกที่เรียกว่า "otitis externa" เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ซึ่งอาการของ สุนัข ชิสุ ที่ป่วยหูอักเสบ ได้แก่ มีกลิ่นเหม็น ชอบเกาหู หรือเอาหู (หัว) ไปถูกับวัตถุ ช่องหู หรือใบหูมีสีแดง หรือบวม ในบางตัวอาจมีสิ่งคัดหลั่งออกมาจากช่องหู ฯลฯ


           สำหรับวิธีการป้องกันที่ดีที่สุด คือการรักษาความสะอาด ควรตรวจสอบช่องหูของ สุนัข ชิสุห์ ทุกสัปดาห์ สุนัข บางตัวมีขี้หูน้อย บางตัวก็มีมาก แตกต่างกันไป ควรใช้สำลีหรือผ้านิ่มๆ เช็ดบริเวณรูหูส่วนนอก และใบหูเป็นประจำ 2-3 ครั้งต่อสัปดาห์ถ้าพบว่า สุนัข ของคุณสะบัดหู หรือเกาหูบ่อย ก็ให้นำไปพบสัตวแพทย์ เพราะอาจมีแมลงเข้าหูหรืออาจเกิดโรคหูอักเสบขึ้น


           นอกจากนี้ ชิสุ ยังมีโรคอื่นๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ เช่น โรคนิ่ว โรคไต โรคผิวหนัง และไส้เลื่อน ทางที่ดีผู้เลี้ยงควรฉีดวัคซีนให้ สุนัข ตามกำหนดให้ครบ และใส่ใจเรื่องอาหาร และการออกกำลังกาย และหากผิดความผิดปกติใดๆ ก็ตามควรรีบพา สุนัข แสนรักไปพบแพทย์เพื่อได้รับการวินัจฉัยและการรักษาที่ตรงจุดต่อไป

วันจันทร์ที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2556

ประวัติความเป็นมาของสุนัข!!

หมา หรือภาษาทางการว่า สุนัข เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมหลายชนิดหลายสกุลในวงศ์ Canidae ออกลูกเป็นตัว ลำตัวมีขนปกคลุม มีเขี้ยว 2 คู่ เท้าหน้ามี 5 นิ้ว เท้าหลังมี 4 นิ้ว ซ่อนเล็บไม่ได้ อวัยวะเพศของสุนัขตัวผู้มีกระดูกอยู่ภายใน 1 ชิ้น สุนัขที่ยังคงเป็นสัตว์ป่า เช่น หมาใน (Cuon alpinus) สุนัขที่เลี้ยงเป็นสัตว์บ้าน คือ ชนิด Canis lupus familiaris สุนัขเป็นสัตว์ที่มีหลายพันธุ์ เช่น ลาบราดอร์, โกลเด้น, ชิวาวา และอีกมากมาย มีทั้งขนาดเล็กและใหญ่ ดุและไม่ดุ พันธุ์ที่มีขนาดใหญ่ เช่น โกลเด้น ลาบราดอร์ ที่มีขนาดเล็ก เช่น ชิวาวา ชิสุ ส่วนที่ดุ ได้แก่ ร็อดไวเลอร์ อัลเซเชียน สุนัขแต่ละพันธุ์จะมีนิสัยแตกต่างกัน
สุนัขพัฒนามาจากสัตว์กินเนื้อและล่าเหยื่อ ดังนั้นวิวัฒนาการของฟันสำหรับเคี้ยวเนื้อและกระดูกจึงยังคงมีอยู่ รวมทั้งการมีประสาทดมกลิ่นและตามล่าเหยื่อที่ดีมาก นอกจากนี้สุนัขยังมีกล้ามเนื้อที่แข็งแรงทำให้วิ่งได้เร็วและเร่งความเร็วได้เท่าที่ต้องการ ลักษณะการเดินของสุนัขจะทิ้งน้ำหนักตัวบนนิ้วเท้า ซึ่งส่งผลให้สุนัขเคลื่อนไหวได้คล่องแคล่วกว่าสัตว์ชนิดอื่น นอกจากนี้สุนัขยังมีสัญชาตญาณในการทำงานเป็นกลุ่ม ดังนั้นสุนัขจึงสามารถล่าสัตว์ที่มีขนาดใหญ่กว่าได้อย่างมีประสิทธิภาพ
สุนัขมีต้นกำเนิดมาจากสุนัขป่า มนุษย์แถบขั้วโลกเหนือนำมันมาเลี้ยงเมื่อประมาณ 12,000 ปีที่แล้ว เชื่อกันว่า สุนัขป่าตัวแรกนั้น เกิดขึ้นเมื่อ 100 ล้านปีก่อน การอพยพข้ามถิ่นและทวีปต่าง ๆ ทำให้สุนัขมีหลายสายพันธุ์ ชาวจีนมีความเชื่อว่าสุนัขที่ชื่อ Fu มีความซื่อสัตย์ และนำความเจริญมาให้ เป็นสุนัขคล้ายพันธุ์ปักกิ่ง "อนูบิส" ซึ่งเป็นชื่อของเทพเจ้าอียิปต์ที่ตัวเป็นคน หัวเป็นสุนัข และเชื่อว่าสามารถส่งวิญญาณมนุษย์ได้
สุนัขพันธุ์ที่เรียกได้ว่าเป็นสุนัขพันธุ์ต้นตระกูลคือพันธุ์สุนัขทองที่มีอยู่อย่างแพร่หลายในปัจจุบัน ต่อมามีสุนัขป่าอีกพันธุ์หนึ่งที่มนุษย์นำมาเลี้ยงมีชื่อภาษาละตินว่า Conis Lupees ซึ่งแปลว่าสุนัขป่า สุนัขป่าอร่อยชนิดนี้จะเชื่องกว่าสุนัขธรรมดา มีขนยาว หางเป็นแผง หูตั้ง กระดูกแก้มโหนก และหางของมันจะเอนขึ้นข้างบน มีนิสัยรักอิสระกว่าสุนัขทอง สุนัขป่านี้เมื่อมาอยู่กับมนุษย์ก็ผสมพันธุ์กับสุนัขทอง ออกลูกหลานสืบมาเป็นสุนัขพันธุ์ต่าง ๆ มากมาย พันธุ์สุนัขที่เห็นทุกวันนี้ได้รับเชื้อสายมาจากสุนัขพันธุ์ทองเกือบทั้งหมด
การค้นคว้าวิจัยและศึกษาเรื่องราวของสุนัข ได้มีขึ้นในประเทศอังกฤษ ในแถบยุโรปและอเมริกา แล้วจึงแพร่หลายไปในส่วนต่าง ๆ ของโลก ในสหรัฐอเมริกาได้มีการจัดตั้งเป็นสมาคมผู้เลี้ยงสุนัขขึ้นในปี ค.ศ. 1878 (พ.ศ. 2421) สุนัขพันธุ์แท้ชนิดแรกที่ได้จดทะเบียนในสหรัฐอเมริกาคือ สุนัขพันธุ์อิงลิชเซทเตอร์ ในประเทศอังกฤษได้มีการรวบรวมกันตั้งสมาคมผู้เลี้ยงสุนัขขึ้นเช่นกันในปี ค.ศ. 1859 (พ.ศ. 2402) ในครั้งแรกสมาคมนี้ได้รับรองให้จดทะเบียนสุนัขพันธุ์แท้ได้ 40 สายพันธุ์ และได้จัดวิธีการรับรองสุนัขพันธุ์ต่าง ๆ เพื่อความเหมาะสมถึง 2 ครั้ง ในปี ค.ศ. 1881 (พ.ศ. 2424) สมาคมนี้ได้ให้การรับรองพันธุ์แท้ต่าง ๆ รวมเป็นจำนวน 46 พันธุ์ การแก้ไขเพิ่มเติมการรับรองเป็นสุนัขพันธุ์แท้เป็นครั้งสุดท้าย เมื่อปี ค.ศ. 1974 (พ.ศ. 2417) ได้มีสุนัขที่ให้การรับรองทั้งหมด 100 สายพันธุ์
สำหรับในประเทศไทยนั้น ก็มีผู้สนใจการเลี้ยงสุนัขรวบรวมกันจัดตั้งสมาคมขึ้นเช่นกัน โดยปรารถนาจะส่งเสริมบำรุงและอำนวยประโยชน์ให้แก่ผู้เลี้ยงสุนัขเหมือนกับต่างประเทศ โดยใช้ชื่อว่า สมาคมผู้นิยมสุนัขแห่งประเทศไทย ได้ทำการจดทะเบียนตั้งสมาคมเมื่อปี ค.ศ. 1955 (พ.ศ. 2498) ถือเป็นการวางรากฐานในการเลี้ยงสุนัขขึ้นในประเทศไทยเป็นแห่งแรก และตั้งใจที่จะให้เป็นประโยชน์แก่ผู้เลี้ยงสุนัขในประเทศไทยได้เช่นเดียวกับต่างประเทศ การที่คนเราจะเลี้ยงสุนัขต้องคำนึงถึงการให้อาหาร